พบ “ฉลามหูดำ” หลายสิบตัว บางตัวยาวกว่า 2 เมตร หากินหน้าหาดอ่าวมาหยา ผลจากมาตรการปิดอ่าวมาหยาตั้งแต่ 1 มิ.ย.61 จนทำให้สัตว์น้ำหวนกลับคืนถิ่น https://tna.mcot.net/view/UPMc2SO
กระบี่ 18 พ.ย.- พบ “ฉลามหูดำ” หลายสิบตัวบางตัวยาวกว่า 2 เมตร หากินหน้าหาดอ่าวมาหยา ผลจากมาตรการปิดอ่าวมาหยาตั้งแต่ 1 มิ.ย.61 จนทำให้สัตว์น้ำหวนกลับคืนถิ่น
พบฉลามหูดำหลายสิบตัวบางตัวยาวกว่า 2 เมตร หากินหน้าหาดอ่าวมาหยา อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพีนานหลายชั่วโมง ก่อนว่ายออกไปที่แนวปะการัง ซึ่งเจ้าหน้าที่บันทึกภาพไว้ นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบปี ที่พบฝูงฉลามหูดำมารวมตัวกันจำนวนมากบริเวณอ่าวมาหยา การที่ฝูงฉลามหูดำเข้ามาหากินบริเวณอ่าวมาหยามากขึ้น เป็นผลจากมาตรการปิดอ่าวมาหยา ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2561 เพื่อฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ จนทำให้สัตว์น้ำที่เคยมีหวนกลับคืนถิ่น ทั้งนี้ พบว่าฉลามหูดำจะจับคู่ผสมพันธุ์ในลากูนอ่าวปิด ลักษณะคล้ายอ่าวมาหยา และช่วงผสมพันธุ์เริ่มจากปลายปีจนถึงต้นปี ทีมวิจัยของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ระหว่างติดตาม ซึ่งหากฉลามหูดำจับคู่ผสมพันธุ์กันที่อ่าวมาหยาจะทำให้อ่าวสมบูรณ์
นายณัฐพงษ์ นิลสวิท Dive Master เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ระหว่างที่ตนเองและนักท่องเที่ยวกลับจากการดำน้ำลึก หลังชมความงามใต้ท้องทะเลบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เมื่อเรือเดินทางถึงจุดดำน้ำลึกเรือจมบุญสูง มีฝูงโลมากว่า 30 ตัว ออกมากระโดดว่ายน้ำเล่น บริเวณรอบๆ เรือนาน 10 นาที ก่อนจะหายไป จุดที่พบโลมา เป็นจุดจมเรือจมบุญสูงนั้น เรือดูดแร่ที่จมลงหลังจากสัมปทานแร่หมด กลายเป็นแนวปะการังขนาดใหญ่ที่ความลึก 18-20 เมตร ไม่ไกลจากหาดเขาหลัก เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลนานาชนิด มีความหลากหลายทางระบบนิเวศน์ จนสัตว์ทะเลหายากไม่ว่าจะเป็น โลมา วาฬ หรือ ฉลามวาฬ ต้องแวะเวียนเข้ามาหากินประจำ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต้องมาชมความงาม ความยิ่งใหญ่ของสัตว์ทะเลหายากอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นจุดดำน้ำที่ไม่ควรพลาดของนักดำน้ำทั่วโลกที่ไทย.-สำนักข่าวไทย