ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) พร้อมด้วย ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ เข้าพบเพื่อหารือด้านกีฬากับ มร.ฟาบิโอ อาเซเวโด ผู้อำนวยการทั่วไปสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) ร่วมด้วย นายธนธรณ สุวรรณมัย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ที่สำนักงานสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ นครโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563
ดร.ก้องศักด ผู้ว่าการ กกท. กล่าวหลังการหารือว่า กกท.ในฐานะองค์กรกีฬาจากประเทศไทยและสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย จะร่วมเซ็น MOU กับ FIVB เพื่อร่วมกันพัฒนาวงการวอลเลย์บอลไทยให้สามารถคว้าโควต้าไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้ได้ หลังจากที่พลาดหวังมาตลอดในหลายครั้งหลัง
โดยเราจะต้องวางแผนร่วมกันตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่ง FIVB ระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญที่อยากร่วมมือด้วย เพราะประเทศทั้งหลายที่เล่นวอลเลย์บอลระดับสูง ไทยเป็น 1 ใน 12 ชาติที่มีศักยภาพมาก ทั้งในแง่นักกีฬา กระแสความนิยม การเป็นเจ้าภาพที่ดีในการจัดการแข่งขัน ดังนั้นเรื่องที่จะร่วมมือกัน คือ พัฒนานักกีฬา, ผู้ฝึกสอน โดยเฉพาะผู้ฝึกสอนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาต่อไป
ที่ผ่านมา FIVB เคยร่วมพัฒนาโค้ชกับอินเดีย จนทำให้อินเดียที่เป็นประเทศไม่เล่นวอลเลย์บอลเลย ไปถึงระดับแชมป์เยาวชนของภูมิภาคแล้ว ซึ่งไทยมีขีดความสามารถมาก จะต้องนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาเสริมให้มากขึ้น ทั้งในการคัดนักกีฬา และการเตรียมนักกีฬา
ดร.ก้องศักด กล่าวต่อว่า เรื่องต่อมา คือ โปรแกรมการแข่งขันระดับนานาชาติ ประเทศไทยมีความสามารถในการจัดรายการระดับโลกได้ดีมาก และการแข่งขันรายการสำคัญมากของวงการตบลูกยาง นอกจากโอลิมปิกเกมส์ ยังมีรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ หรือชิงแชมป์โลก ที่แข่งขัน 4 ปีครั้ง FIVB ได้สนับสนุนให้ไทยพิจารณาเสนอตัวเป็นเจ้าภาพรายการเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ ปี 2026 ในอีก 6 ปีข้างหน้า ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดของวอลเลย์บอลในช่วงนั้น
และเรื่องสุดท้าย คือ การสร้างกระแสความนิยมในประเทศให้มากขึ้น ทำอย่างไรให้มีนักวอลเลย์บอลหน้าใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันในโอลิมปิกเกมส์ กีฬาที่มีคนดูมากที่สุด คือ วอลเลย์บอล เพราะเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ต่างจากฟุตบอลที่ใช้นักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี แต่วอลเลย์บอลใช้นักตบซูเปอร์สตาร์ยกทีมมาแข่งขัน ซึ่ง FIVB เชื่อว่าถ้าเดินตามแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้ทีมตบสาวไทยมีโอกาสในการไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ได้มากขึ้น
ส่วนประเด็นที่นักตบสาวทีมชาติไทยรุ่นพี่ ที่ประกาศเลิกเล่นทีมชาติไปแล้ว และที่ยังเล่นต่อไปนั้น ดร.ก้องศักด กล่าวว่า บุคคลเหล่านี้ยังเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าในวงการวอลเลย์บอล บทบาทอาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็นโค้ช ซึ่งจะมีการพูดคุยกับทุกคนที่จะเลิกเล่นให้เข้าโปรแกรมพัฒนาไปเป็นโค้ช ต่อไป
ผู้ว่าการกกท. กล่าวด้วยว่า FIVB ให้คำแนะนำว่า ในการพัฒนาอย่าไปยึดติดมาก ให้สร้างนักกีฬาใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ไม่อยากให้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นแชมป์ทุกรุ่น เยาวชน 13, 14, 15 ปี ไม่จำเป็นต้องเป็นแชมป์ แต่ให้เลือกนักกีฬาที่มีส่วนสูงมาก เล่นไม่เป็นไม่เป็นไร เอามาฝึกกันได้ เมื่อฝึกซ้อมไปจะเล่นได้ แต่คนที่เก่งในระดับเยาวชนแต่ตัวเล็ก พอโตไปก็ไม่สามารถสู้ต่างชาติได้ ไม่สามารถไปต่อได้
สำหรับ วอลเลย์บอลหญิง ชิงแชมป์โลก เป็นอีกหนึ่งรายการใหญ่ของ FIVB ที่จัดทุกๆ 4 ปี โดยครั้งล่าสุด ในปี 2018 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทีมชาติไทย จบอันดับ 13 ขณะที่ในปี 2022 จะจัดแข่งขันกันที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์