? แถลงสถานการณ์ #COVID19 ประจำวัน โดย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.)

วันที่ 8 พ.ค.  2563 เวลา 11.30 น. นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ว่า สรุปสถานการณ์ประจำวันที่ 8 พ.ค. 2563 มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่ม 8 ราย  รวมมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 3,000 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิต 55 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 161 ราย  หายป่วยกลับบ้านได้แล้วรวม 2,784 ราย

สหราชอาณาจักร กลายเป็นประเทศที่ 4 ของโลก ที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 มากกว่า 200,000 คน

นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้หลังผู้ป่วยทั่วโลกรวมสะสม 1 ล้านคน อัตราเพิ่มขึ้นจะเป็น 1 ล้านคนทุก 12 วัน คาดวันที่ 10 พ.ค.นี้ ป่วย COVID-19 เป็น 4 ล้านคน แต่พบปัญหารายงานตัวเลขน้อยกว่าผู้ป่วยจริงทั้งในยุโรป แอฟริกาและอเมริกา หวั่นทำตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มแบบก้าวกระโดด

วันนี้ (8 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วรายงานเข้าสู่ระบบทั่วโลกจะมีอัตราการเพิ่มขึ้น ตั้งแต่มีผู้ป่วยได้ 1 ล้านคน อัตราการเพิ่มขึ้นจะเป็น 1 ล้านคนทุก 12 วัน

เพิ่มเป็น 2 ล้านคน 3 ล้านคนและจะเป็น 4 ล้านคนภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ อัตราการเพิ่มขึ้นของทั่วโลกที่เป็นแบบนี้เปรียบเสมือนลดน้อยลง ไม่ได้เพิ่มแบบก้าวกระโดด

ในอนาคตถ้าควบคุมได้แบบนี้ก็จะมีแนวโน้มลดลง สิ่งที่เป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ การระบาดเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาในอเมริกาใต้และแอฟริการวมทั้งอินเดียที่จะทำให้เกิดการก้าวกระโดดและจะมีตัวเลขที่ไม่ได้รายงานอีกเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ ตัวเลขที่เห็น ขอยกตัวอย่างเช่น มหานครนิวยอร์ก มีการศึกษาทาง Serology มีผู้ติดเชื้อไปแล้วประมาณ 20% แสดงว่ามีผู้ป่วยที่รายงานเป็น 1 ใน 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อเท่านั้น เช่นเดียวกันกับอีกหลายที่โดยเฉพาะในยุโรป ตัวเลขที่รายงานจำนวนผู้ป่วยจะต่ำกว่าจำนวนที่ติดเชื้อจริงอย่างมาก เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะให้อยู่ที่บ้าน นอกจากมีอาการมากจึงจะรับมารักษาที่โรงพยาบาล มีผู้ป่วยจำนวนมากถึงมีอาการ ก็ไม่ได้รับการวินิจฉัย เพราะนอนอยู่ที่บ้าน